Skip to main content
sharethis

Summary

  • บริษัท Pou Chen ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายรองเท้าระดับโลกสัญชาติไต้หวัน ย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลต่อการเพิ่มผลกำไรของบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
  • การย้ายฐานการผลิตของ Pou Chen ส่งผลให้เกิดการประท้วงหยุดงานของเหล่าพนักงานในโรงงานที่ตั้งอยู่ในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ตัวอย่างเช่น พนักงานในประเทศเวียดนาม อย่างต่อเนื่องและรุนแรงเพื่อเรียกร้องค่าจ้างที่สูงขึ้น 
  • แม้ว่าบริษัทอย่าง Pou Chen จะมีสิทธิ์ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นก็ตาม แต่ China Labour Bulletin ชี้ว่าโรงงานต่าง ๆ ควรมีกลไกการสื่อสารเพื่อรับฟังเสียงของพนักงานและปรับปรุงสภาพการทำงานให้ดีขึ้น
  • เพื่อปกป้องสิทธิแรงงานได้ดียิ่งขึ้น China Labour Bulletin แนะนำว่าสหภาพแรงงานในประเทศกำลังพัฒนา ควรได้รับการสนับสนุนด้านการต่อรองร่วม (collective bargaining) เพื่อให้สามารถเจรจากับแบรนด์ดังระดับโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กรณีโรงงาน Baoyi ในหยางโจวซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Pou Chen ผู้ผลิตรองเท้าสัญชาติไต้หวัน ตั้งอยู่ในมณฑลเจียงซูของจีน ปิดตัวลงในเดือน ธ.ค. 2023 ซึ่งสื่อที่ติดตามประเด็นแรงงานในประเทศจีนอย่าง China Labour Bulletin (CLB) ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าว โดยมุ่งเน้นไปที่การรวมตัวของเหล่าพนักงาน รวมถึงการตรวจสอบการรับมือของรัฐบาลท้องถิ่นและสหภาพแรงงาน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

สำหรับรายงานชิ้นนี้ของ CLB วิเคราะห์ผลกระทบจากการย้ายฐานการผลิตของ Pou Chen ออกจากจีนไปยังประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนำไปสู่การประท้วงหยุดงานในโรงงานของบริษัทฯ ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคดังกล่าว 

กลยุทธ์การลดต้นทุนของ Pou Chen ย้ายฐานการผลิตจากจีนสู่เวียดนามและอินโดนีเซีย

Pou Chen ก่อตั้งขึ้นในปี 1969 เป็นบริษัทสัญชาติไต้หวัน ที่เน้นการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์รองเท้า บริษัทอ้างว่าเป็นบริษัทผลิตรองเท้ารายใหญ่ที่สุดในโลก โดยเป็นผู้ผลิตให้กับแบรนด์ระดับสากลมากมาย อาทิ Nike, Adidas, Asics, New Balance, Timberland และ Salomon เคยมีนิตยสารฉบับหนึ่งไว้ว่า "1 ใน 5 ของรองเท้าที่ผลิตทั่วโลกนั้นมาจาก Pou Chen"

เริ่มแรก Pou Chen ได้เปิดโรงงานในจูไห่ มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีนตั้งแต่ช่วงต้นปี 1988 แตกต่างจากบริษัทไต้หวันบางแห่งที่มุ่งเน้นขยายฐานการผลิตไปในจีนแผ่นดินใหญ่ Pou Chen ได้วางแผนขยายการผลิตไปยังประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 โดยมีการจัดตั้งโรงงานในอินโดนีเซียและเวียดนามในช่วงต้นปี 1992 และ 1994 ตามลำดับ

เริ่มต้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา Pou Chen ได้มีการปรับเปลี่ยนการกระจายตัวของโรงงานเพิ่มมากขึ้น จุดเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ คือ วิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2008 การหดตัวของตลาดรองเท้าทั่วโลกในปี 2009 ประกอบกับระดับค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น และกฎหมายสัญญาจ้างแรงงานที่เพิ่งมีการบังคับใช้ในประเทศจีน กระตุ้นให้กลุ่มบริษัทไต้หวันต้องปรับการลงทุนในโรงงานของตนเองท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ รายงานที่เผยแพร่โดย IBTS Investment Consulting Group ในปี 2010 ประมาณการว่าสายการผลิตของบริษัทในเวียดนามและอินโดนีเซียจะเพิ่มขึ้น 8.1% และ 8.5% ตามลำดับ ในขณะที่การเติบโตในโรงงานผลิตที่จีนมีเพียง 5.5% เท่านั้น

หลังปี 2011 รัฐบาลจีนได้เริ่มบังคับใช้กฎหมายประกันสังคมอย่างเข้มงวดมากขึ้น กฎหมายเหล่านี้มุ่งเป้าไปที่การขยายการเข้าถึงประกันสังคมให้กับพนักงานข้ามชาติและแรงงานอพยพ รวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนประกันสังคม ส่งผลให้ผลกำไรของ Pou Chen ลดลงอย่างชัดเจน รายงานประจำปีของ Pou Chen ระบุว่ารายได้จากการดำเนินงานลดลงมากกว่า 20% ในปี 2014 อัตรากำไรสุทธิก็ลดลงจากปี 2013 เนื่องจากจีนมีการจัดเก็บเงินสมทบประกันสังคมรวมถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

Yue Yuen ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Pou Chen บริหารโรงงานผลิตรองเท้าขนาดใหญ่ในตงกวน มณฑลกวางตุ้ง ในเดือน เม.ย. 2014 คนงานกว่า 40,000 คน ได้หยุดงานประท้วงเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เนื่องจากการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญไม่ครบถ้วน รวมถึงความกังวลที่ว่าโรงงานในตงกวนจะถูกปิดตัวลง ในขั้นต้น เวียดนามได้กลายเป็นสถานที่ที่ได้รับความนิยมในการย้ายฐานการผลิตจากจีนแผ่นดินใหญ่ โดยส่วนแบ่งการผลิตรองเท้าของเวียดนามได้เพิ่มขึ้นเป็น 42% ในปี 2015 ในขณะที่ส่วนแบ่งของจีนลดลงเหลือเพียง 25%

ในปี 2020 การระบาดครั้งใหญ่ของโรคโควิด-19 ทั่วโลก ได้ทำให้เกิดการหดตัวทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่อีกครั้ง Pou Chen ประสบกับภาวะขาดทุนทางการเงินอย่างหนักถึง 2 พันล้านดอลลาร์ไต้หวันในปีนั้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ตามมาในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาหมายความว่าบริษัทไม่สามารถกู้คืนรายได้และผลกำไรจากการดำเนินงานให้กลับสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดได้

การลดลงของรายได้ ประกอบกับนโยบายการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดของจีน และความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีน ผลักดันให้ Pou Chen เร่งเพิ่มการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน จากรายงานประจำปีของ Pou Chen ในปี 2015 ประมาณ 25% ของการผลิตของ Pou Chen อยู่ในประเทศจีน แต่ในปี 2019 ตัวเลขดังกล่าวลดเหลือเพียง 13% และ ณ ปี 2022 ได้ลดลงเหลือเพียง 10% เท่านั้น ในขณะเดียวกัน กำลังการผลิตในอินโดนีเซียได้เพิ่มขึ้นจาก 32% เป็น 46% ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนอีกประมาณ 40% ที่เหลือจะอยู่ที่เวียดนาม

การประท้วงเรียกร้องเพิ่มค่าแรงของแรงงานเวียดนาม 

ขณะที่ Pou Chen ย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนามมากขึ้น การประท้วงและการหยุดงานของเหล่าแรงงานก็เริ่มเกิดขึ้นในโรงงานต่าง ๆ หลังปี 2010 มีการบันทึกเหตุการณ์การประท้วงอย่างน้อย 7 ครั้งในโรงงานของ Pou Chen ที่เวียดนาม (ดูตารางด้านล่าง) การประท้วงเหล่านี้มีขนาดใหญ่และเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ทำให้ประสบความสำเร็จในการหยุดยั้งนโยบายบางอย่างของฝ่ายบริหารโรงงาน และนำไปสู่การที่ Pou Chen ตัดสินใจจำกัดการขยายกิจการในประเทศ

การหยุดงานประท้วงส่วนใหญ่มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่การเรียกร้องค่าจ้างที่ดีขึ้น ในเดือน มิ.ย. 2011 คนงานมากกว่า 93,000 คน ใน 2 โรงงานของ Pou Chen ได้หยุดงานประท้วง ซึ่งถือเป็นครั้งใหญ่ที่สุดในเวียดนามจนถึงปัจจุบัน เหล่าคนงานไม่พอใจกับค่าจ้างที่ต่ำ ค่าล่วงเวลา โบนัส และอาหารโรงอาหารที่คุณภาพต่ำ พวกเขาเรียกร้องให้มีการเพิ่มค่าจ้างรายเดือน 500,000 ดอง (ประมาณ 25 ดอลลาร์สหรัฐฯ) แต่การเจรจาล้มเหลวหลังจากที่บริษัทตกลงเพิ่มให้เพียง 200,000 ดอง (ประมาณ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ)

ในปี 2016 ได้เกิดการหยุดงานประท้วงเกี่ยวกับค่าจ้างอีกครั้ง พนักงานจำนวน 17,000 คน จากทั้งหมด 21,600 คน ของ Pou Chen ในเบียนหัว ได้หยุดงานเป็นเวลา 3 วันในเดือน ก.พ. 2016 คนทำงานต่อต้านการจัดรูปแบบใหม่ที่ใช้เวลาทำงานในการคำนวณโบนัส ซึ่งคนทำงานเชื่อว่าจะนำไปสู่การลดเงินเดือนอย่างไม่เป็นธรรม ในที่สุด Pou Chen ก็ยอมจำนนต่อข้อเรียกร้องของคนทำงานและยกเลิกนโยบายดังกล่าว รวมถึงยินยอมจ่ายค่าจ้างให้กับคนทำงานสำหรับช่วง 3 วันที่หยุดงานประท้วงด้วย เหตุการณ์ที่คล้ายกันนี้ถูกบันทึกไว้ในเดือน มี.ค. 2018 เมื่อฝ่ายบริหารเปิดตัวนโยบายค่าจ้างใหม่ การประท้วงที่เกี่ยวข้องกับคนทำงานหลายพันคนซึ่งปิดกั้นทางหลวงระหว่างนครโฮจิมินห์และดงไน บังคับให้ฝ่ายบริหารต้องถอนนโยบายดังกล่าวออก

เหล่าคนทำงานผู้แข็งกร้าวที่โรงงานของ Pou Chen ในเมืองเบียนหัว ได้หยุดงานประท้วงอีกครั้งในปี 2022 หลังการระบาดใหญ่ทั่วโลก คนทำงานระบุว่าบริษัทลดโบนัสสิ้นปีของพวกเขาลง เหลือเพียง 1-1.5 เดือน จาก 1.9-2.2 เดือนในปีก่อน ๆ

คล้ายกับจีน สหภาพแรงงานในเวียดนามถูกควบคุมโดยรัฐ และสหภาพแรงงานที่ถูกกฎหมายเพียงแห่งเดียวคือสมาพันธ์แรงงานเวียดนาม (VGCL) ซึ่งครอบงำโดยรัฐบาล แม้จะมีการทดลองต่าง ๆ ในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ ซึ่งรวมถึงการเจรจาต่อรองร่วม มีการจัดการกรณีพิพาทแรงงานได้ดีขึ้น และอนุญาตให้คนทำงานจัดตั้งองค์กรตัวแทนแรงงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับสหภาพแรงงาน VGCL ในองค์กรต่าง ๆ

อาจเป็นเพราะความขัดแย้งด้านแรงงานที่เพิ่มขึ้นในเวียดนาม ทำให้ Pou Chen ยินดีที่จะร่วมมือกับสหภาพแรงงานมากขึ้น บริษัทประกาศว่าพวกเขาได้บรรลุข้อตกลงกับสหภาพแรงงานก่อนที่จะประกาศลดโบนัสสิ้นปีในทั้งปี 2022 และ 2023 อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้ช่วยแก้ไขความไม่พอใจของคนทำงานได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากคนทำงานยังคงหยุดงานประท้วงในปี 2022

อย่างไรก็ตาม Pou Chen ก็ไม่ได้ยอมรับสหภาพแรงงานตลอดเวลา ในเมียนมา Pou Chen ปราบปรามสหภาพแรงงานด้วยการไล่พนักงานเกือบ 30 คน ออกหลังจากการประท้วงในปี 2022 ที่เรียกร้องให้มีการเพิ่มค่าจ้าง

ความจำเป็นในการเสริมสร้างการต่อรองร่วมในประเทศกำลังพัฒนา

การที่บริษัท Pou Chen ย้ายฐานการผลิตไปยังอินโดนีเซียในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อใช้ประโยชน์จากคนทำงานที่มีอยู่จำนวนมากและหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับคนทำงานเวียดนาม ส่งผลให้สหภาพแรงงานของอินโดนีเซียรู้สึกกดดันมากขึ้นในการรวมตัวปกป้องสิทธิของเหล่าพนักงาน

จากประสบการณ์ของคนทำงานจีนและเวียดนาม แสดงให้เห็นว่าบริษัทลูกของ Pou Chen ดำเนินการอย่างรวดเร็วและเด็ดขาดเพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลกำไร ซึ่งอาจรวมถึงการเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก การปรับนโยบายค่าจ้าง และการลดโบนัส

ความสำเร็จเบื้องต้นของแรงงานเวียดนาม ยังชี้ให้เห็นว่าการต่อสู้กับการลดต้นทุนของนายจ้าง ไม่เพียงแค่เป็นการตัดสินใจทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นการตัดสินใจทางการเมืองที่อาศัยพลังอำนาจการรวมตัวของคนทำงาน  หากเสียงของคนทำงานไม่แข็งแกร่งพอที่จะต่อรองกับบริษัท บริษัทก็จะดำเนินการตัดสินใจเหล่านั้นได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ในระหว่างการเยือนอินโดนีเซียเมื่อปี 2023 องค์กร CLB ได้เข้าพบกับ สหภาพแรงงานแห่งชาติอินโดนีเซีย (SPN) และรับทราบเกี่ยวกับข้อตกลงร่วม (Collective Agreement) ระหว่าง Pou Chen และสหภาพแรงงาน แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ดีที่เห็นสหภาพแรงงานมีส่วนร่วมในการต่อรองร่วมกับบริษัท แต่ตัวแทนของ SPN ก็ได้เน้นย้ำถึงความท้าทายที่สำคัญ คือ แบรนด์ระดับโลกไม่เต็มใจที่จะเข้าร่วมกระบวนการต่อรองและเปิดเผยรายละเอียดของคำสั่งซื้อจากโรงงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขึ้นค่าจ้างให้แก่คนทำงาน

เพื่อปรับปรุงสภาพการทำงานในภูมิภาคเหล่านี้ สหภาพแรงงานและองค์กร NGO ในประเทศพัฒนาแล้ว ควรสนับสนุนความพยายามในการต่อรองร่วมในประเทศกำลังพัฒนา อย่างแข็งขัน สหภาพแรงงานภายใต้ห่วงโซ่อุปทาน ควรร่วมมือกันกดดันให้แบรนด์ระดับโลกเข้าร่วมในการเจรจาค่าจ้างและหารือเกี่ยวกับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการทำงานระหว่างการต่อรองร่วม ความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่อุปทาน เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการปกป้องสิทธิแรงงานทั่วโลก


ที่มา:
Shift of strikes to Pou Chen's factories in southeast Asia underscores need for support in unions' collective bargaining (China Labour Bulletin, 27 March 2024)

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net