Skip to main content
sharethis

นักศึกษาในมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วโลกเช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ อินเดีย ประท้วงเรียกร้องอิสราเอลให้ยุติการโจมตีปาเลสไตน์และแสดงออกยืนหยัดเคียงข้างปาเลสไตน์ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีเหตุปะทะเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

ตั้งแคมป์ประท้วงอิสราเอล ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เมื่อ 21 เมษายน 2567 (ที่มา: Wikipedia)

เมื่อช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการประท้วงเพื่อแสดงการยืนหยัดเคียงข้างชาวปาเลสไตน์กระจายตัวไปในหลายมหาวิทยาลัยทั่วสหรัฐฯ และทั่วโลก หลังจากที่อิสราเอลมียุทธการปิดล้อมฉนวนกาซา

มีผู้คนมากกว่า 2,000 คนถูกจับกุมในมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ นับตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย. เป็นต้นมา ท่ามกลางการถกเถียงแบบแบ่งขั้วกันในเรื่องสิทธิของการชุมนุม การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และข้อกล่าวหาเรื่องการเหยียดชาวยิว

แต่ในช่วงที่มีการปะทะและการเผชิญหน้ากันระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์ก, มหาวิทยาลัยพอร์ตแลนด์สเตท และ มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส จะกลายเป็นข่าวที่โลกให้ความสนใจ แต่การประท้วงและการปักหลักชุมนุมในประเด็นปาเลสไตน์ก็ยังเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยแห่งอื่นๆ ของโลกด้วยเช่นกัน ทั้งในยุโรป, เอเชีย และภูมิภาคตะวันออกกลาง

และถึงแม้ว่าข้อเรียกร้องในหมู่ผู้ประท้วงจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละมหาวิทยาลัย แต่การประท้วงโดยส่วนใหญ่ก็เรียกร้องให้สถานศึกษาของพวกเขาถอนการลงทุนจากบริษัทที่สนับสนุนให้อิสราเอลทำสงครามในกาซ่า

สงครามกาซ่ารอบล่าสุดเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2566 เป็นต้นมา เมื่อกองกำลังติดอาวุธฮามาสสังหารประชาชนมากกว่า 1,200 คนทางตอนใต้ของอิสราเอลและจับผู้คนเป็นตัวประกันมากกว่า 200 คน กองทัพอิสราเอลโต้ตอบในเรื่องนี้จนทำให้เกิดหายนะด้านมนุษยธรรมเกิดขึ้นในกาซ่า ก่อให้ทั่วโลกพากันแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้

อิสราเอลใช้อาวุธถล่มกาซ่ามาเป็นเวลา 7 เดือนติดต่อกันแล้ว ส่งผลให้ประชาชนเสียชีวิตมากกว่า 34,600 คน จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขของกาซ่า มีประชาชนครึ่งหนึ่งของประชากรในกาซ่าทั้งหมด 2.2 ล้านคนกำลังเสี่ยงที่จะตกอยู่ในภาวะอดอยากหิวโหยและภาวะลำบากยากแค้นที่มาจากการกระทำของมนุษย์ องค์การสหประชาชาติประเมินว่าภาวะอดอยากเช่นนี้กำลังคืบคลานเข้าสู่กาซ่ามากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ยังมีความกังวลเพิ่มมากขึ้นในเรื่องที่มีปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลที่ราฟาห์ทางตอนใต้ของกาซ่าที่ทำให้เกิดการเรียกร้องให้มีการหยุดยิงอีกครั้ง

โดยการประท้วงสนับสนุนปาเลสไตน์เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลก อาทิเช่น

ออสเตรเลีย

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการประท้วงสนับสนุนปาเลสไตน์เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยอย่างน้อย 7 แห่ง ทั่วออสเตรเลีย

มหาวิทยาลัยแห่งควีนส์แลนด์ในบริสเบนกลายเป็นแหล่งรวมตัวกันสำหรับทั้งฝ่ายสนับสนุนปาเลสไตน์และฝ่ายต่อต้าน มีการปักหลักชุมนุมอยู่ห่างกันประมาณ 100 เมตร ฝั่งหนึ่งเป็นกลุ่มสนับสนุนปาเลสไตน์ชื่อกลุ่ม "นักศึกษาเพื่อปาเลสไตน์ ม.ควีนส์แลนด์" อีกกลุ่มหนึ่งที่เล็กกว่ามีการตั้งเต็นท์กระจัดกระจาย และมีการห้อยธงอิสราเอลไว้ระหว่างต้นไม้

กลุ่มสนับสนุนปาเลสไตน์นั้นทำการปักหลักชุมนุมเพื่อแสดงการยืนหยัดเคียงข้างชาวปาเลสไตน์ที่อยู่ภายใต้การปิดล้อมจากอิสราเอลในกาซ่า รวมถึงแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับนักศึกษาที่ประท้วงในสหรัฐฯ ด้วย แต่ก็มีกลุ่มชาวยิวบางคนบอกว่าคนพวกนี้สร้างความตึงเครียดโดยไม่จำเป็นแก่มหาวิทยาลัย และผู้นำฝ่ายต่อต้านก็เรียกผู้ประท้วงเหล่านี้ว่า "เหยียดเชื้อชาติ" และ "เหยียดชาวยิว"

กลุ่มนักศึกษาเพื่อปาเลสไตน์ฯ ต้องการให้มหาวิทยาลัยเปิดเผยว่าทางมหาวิทยาลัยมีส่วนเกี่ยวโยงกับบริษัทอิสราเอลกลุ่มไหนบ้างและต้องการให้ตัดความสัมพันธ์กับบริษัทค้าอาวุธ

ในมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ออสเตรเลีย มีการตั้งเต็นท์ชุมนุมประมาณ 50 เต็นท์ วางเรียงกันเป็นแนวสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีผู้ประท้วงประมาณ 100 ราย หลับนอนอยู่ที่นี่ทุกคืน เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา มีกลุ่มที่ทำการประท้วงต่อต้านสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็น "กระแสที่น่าหวาดวิตกของกิจกรรมการต่อต้านชาวยิวและต่อต้านอิสราเอล" ในมหาวิทยาลัย

มีผู้ชุมนุมฝ่ายสนับสนุนอิสราเอลมากกว่า 200 ราย ที่ชุมนุมใน ม. ซิดนีย์ บางส่วนประดับธงอิสราเอลและธงออสเตรเลีย แต่ก็ไม่ได้มีการปะทะกันโดยตรงระหว่างสองกลุ่มนี้ โดยที่ฝ่ายสนับสนุนปาเลสไตน์ขอให้ผู้ติดตามของพวกเขา "คุ้มกัน" ค่ายปักหลักประท้วง

สหราชอาณาจักร

กลุ่มสนับสนุนปาเลสไตน์จัดการประท้วงขึ้นหลายแห่งทั่วประเทศสหราชอาณาจักร นับตั้งแต่ในช่วงแรกๆ ที่อิสราเอลทำสงครามกับกาซ่า มีบางส่วนที่เริ่มตั้งแคมป์ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา

ในมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล มีกลุ่มผู้ประท้วงสนับสนุนปาเลสไตน์กลุ่มเล็กๆ ที่ปักหลักชุมนุมกันที่สนามหญ้าหน้าอาคารของวิทยาลัย มีการเผยแพร่วิดีโอและรูปภาพให้เห็นทางโซเชียลมีเดีย

ในโซเชียลมีเดีย X (ทวิตเตอร์) มีผู้ใช้งานชื่อ "Newcastle Apartheid Off Campus" (แปลว่า "นิวคาสเซิล มหาวิทยาลัยต่อต้านการแบ่งแยกสีผิว") เผยแพร่สื่อที่แสดงให้เห็นเต็นท์สิบกว่าหลังที่มีบางส่วนประดับด้วยธงปาเลสไตน์

เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ที่ผ่านมา ตำรวจฝรั่งเศสได้ทำการสลายผู้ประท้วงในมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ทรงเกียรติ์ของฝรั่งเศส โดยมีวิดีโอที่แสดงให้เห็นเจ้าหน้าที่ลากตัวผู้ประท้วง 2 รายออกจากเต็นท์ไปตามพื้น

ในวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลได้ทำการสลายพื้นที่อาคารหลักของมหาวิทยาลัยซิยองโป กรุงปารีส โดยที่ผู้ประท้วงพากันตะโกนว่า "น่าอดสู!" และ "ปลดปล่อยปาเลสไตน์!" แต่สถานการณ์ช่วงสลายการชุมนุมก็เป็นไปอย่างเรียบร้อย

ก่อนหน้าการสลายการชุมนุมหนึ่งวัน มีนักศึกษาหลายสิบรายที่เริ่มทำการปักหลักชุมนุมในมหาวิทยาลัยซิยองโปจนทำให้มีการปิดการเรียนการสอน จากปากคำของโฆษกของมหาวิทยาลัย ผู้ประท้วงรายหนึ่งประกาศว่ามีนักศึกษารายหนึ่งได้เริ่มอดอาหารเพื่อประท้วงการที่มหาวิทยาลัยโต้ตอบ "ความปรารถนาของนักศึกษาที่ต้องการจะสนับสนุนปาเลสไตน์"

วิดีโอของซีเอ็นเอ็นแสดงให้เห็นนักศึกษากำลังถือป้ายประท้วงเรียกร้องให้ยุติ "การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ในกาซา และให้บอยคอตต์มหาวิทยาลัยอิสราเอล

ซิยองโปเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ถูกจัดอันดับอยู่ในระดับสูงและมีประธานาธิบดีฝรั่งเศสหลายคนที่เคยเป็นศิษย์เก่าของที่นี่ รวมถึง เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนปัจจุบันด้วย ม.แห่งนี้ยังมีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซึ่งมีนักศึกษาประท้วงสนับสนุนปาเลสไตน์จำนวนมาก

หลุยส์ นักศึกษาของซิยองโปกล่าวว่า "พวกเราได้รับแรงบันดาลใจจาก ม.โคลัมเบีย, ฮาร์วาร์ด, เยล, ยูเอ็นซี, แวนเดอร์บิลต์ ... มหาวิทยาลัยเหล่านี้ได้ทำการขับเคลื่อน แต่การแสดงออกยืนหยัดเคียงข้างของพวกเรานั้นยังคงอยู่กับประชาชนชาวปาเลสไตน์มาก่อนเป็นอันดับแรก"

ท่ามกลางการประท้วง ประธานสภาแคว้น อิล-เดอ-ฟรองซ์ ของฝรั่งเศส กล่าวว่ามหาวิทยาลัยจะไม่ยอมรับงบประมาณจากหน่วยงานรัฐของกรุงปารีส "จนกว่าความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงจะกลับคืนมาในสถานศึกษา"

ซามูเอล เลอจัวยูกซ์ ประธานสหพันธ์นักศึกษาชาวยิวแห่งฝรั่งเศส เรียกร้องให้มีการเจรจาหารือกันระหว่างผู้ประท้วงจากทั้งสองฟากของอุดมการณ์

เลอจัวยูกซ์ระบุในบทความของหนังสือพิมพ์ เลอมอนด์ ว่า กลุ่มผู้ประท้วงสนับสนุนปาเลสไตน์ควรจะทำให้ดีกว่านี้ในการ "ประกาศประณามอย่างเปิดเผยต่อแนวคิดเหยียดชาวยิว" แต่ก็ระบุว่าการใข้ตำรวจเพื่อปราบปรามผู้ประท้วงเหล่านี้ไม่ใช่คำตอบ

"ผมไม่เคยรู้สึกดีเลยที่ได้เห็น CRS (ตำรวจปราบจลาจลฝรั่งเศส) เข้าไปในมหาวิทยาลัย ... มากว่าสิ่งอื่นใด ผมเชื่อในการหารืออภิปรายกัน จากอดีตจนถึงปัจจุบันความก้าวหน้าอย่างใหญ่หลวงในฝรั่งเศสเกิดขึ้นได้เพราะผลลัพธ์ของความแข็งข้อและการถกเถียงอภิปรายกัน" เลอจัวยูกซ์กล่าว

อินเดีย

ที่อินเดียมีการประท้วงที่มหาวิทยาลัยที่ทรงเกียรติอย่าง มหาวิทยาลัย ชวาหะร์ลาล เนห์รู (JNU) ในกรุงนิวเดลี ซึ่งเป็นการแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับนักศึกษาที่ประท้วงที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย

การประท้วงเกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่ทูตสหรัฐฯ ประจำอินเดีย อิริค การ์เซตตี มีกำหนดการจะเยือนมหาวิทยาลัย JNU ซึ่งก็มีการเลื่อนการเดินทางเยือนออกไป

สหพันธ์นักศึกษา JNU แถลงการณ์ระบุว่า "สถานที่ของ JNU จะไม่มีการจัดพื้นที่ให้กับหน่วยงานบริหารภาครัฐและบุคลากรที่เป็นตัวแทนของประเทศที่มีส่วนร่วมกับการก่อการร้ายและการฆ่าล้างเผ่าพันธฺุ์ที่กระทำโดยอิสราเอล" นอกจากนี้แถลงการณ์ของสหพันธ์ยังแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับผู้ประท้วงที่ ม.โคลัมเบียด้วย

JNU เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยระดับท็อปของอินเดีย เป็นผู้นำขบวนการประท้วงหลายขบวนการ เช่นในปี 2562 มีการประท้วงต่อต้านกฎหมายที่สร้างข้อถกเถียงที่นักวิจารณ์บอกว่าเป็นการกีดกันเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิม

พรรคการเมืองนักศึกษา 2 พรรค ที่มหาวิทยาลัย จาเมีย มิเลีย อิสลาเมีย ในกรุงนิวเดลี ได้แสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับผู้ประท้วงสนับสนุนปาเลสไตน์ด้วย

สหพันธ์นักศึกษาแห่งอินเดียที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์อินเดียออกแถลงการณ์ระบุว่า "พวกเรายังขอประณามจุดยืนของพรรคภารตียชนตา (BJP) ที่เป็นผู้นำรัฐบาลในเรื่องการสนับสนุนอิสราเอล ซึ่งเป็นการเบี่ยงเบนจุดยืนทางประวัติศาสตร์ของอินเดีย"

แคนาดา

การประท้วงต่อต้านสงครามที่อิสราเอลกระทำต่อปาเลสไตน์เกิดขึ้นแพร่หลายทั่วแคนาดา

ที่มหาวิทยาลัยแมกกิลล์ ในย่านดาวน์ทาวน์ ของมอนทรีออล กลุ่มนักศึกษาผู้ประท้วงสนับสนุนปาเลสไตน์ได้ปักหลักตั้งแคมป์อยู่ที่สนามหญ้าหน้ามหาวิทยาลัย

เช่นเดียวกับการประท้วงในสหรัฐฯ นักศึกษากำลังเรียกร้องให้สถานศึกษาอุดมศึกษาสั่งถอนทุนบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอิสราเอล

มหาวิทยาลัยแมกกิลล์เคยพยายามสลายผู้ชุมนุม โดยระบุว่าพวกเขาได้ขอความช่วยเหลือจากตำรวจหลังจากที่มีการเจรจากับตัวแทนนักศึกษาแล้วไม่สามารถหาข้อยุติได้

ในวันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา ผู้พิพากษาศาลสูงควิเบกปฏิเสธคำร้องที่มีการขอคำสั่งศาลเพื่อบังคับให้กลุ่มผู้ประท้วงสนับสนุนปาเลสไตน์ยกเลิกการปักหลักชุมนุมของตัวเอง

นอกจากนี้ กลุ่มสนับสนุนปาเลสไตน์ยังได้จัดตั้งแคมป์ปักหลักชุมนุมที่มหาวิทยาลัยแห่งโตรอนโต ที่ย่านดาวน์ทาวน์ และที่มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียในแวนคูเวอร์ และในที่อื่นๆ ด้วย

เลบานอน

นักศึกษาหลายร้อยคนรวมตัวกันตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ในเลบานอนช่วงปลายเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา มีการโบกธงปาเลสไตน์และเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยของพวกเขาบอยคอตต์บริษัทที่ทำธุรกิจกับอิสราเอล

ในเมืองหลวงของเลบานอน กรุงเบรุต มีภาพที่แสดงให้เห็นนักศึกษามหาวิทยาลัยอเมริกันแห่งเบรุต ประท้วงที่หน้าประตูมหาวิทยาลัยในเรื่องการทำสงครามต่อฉนวนกาซ่า มีผู้ประท้วงบางส่วนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการประท้วงในมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ

"พวกเราต้องการแสดงให้โลกทั้งใบเห็นว่าพวกเราไม่ได้ลืมความเดือดร้อนของชาวปาเลสไตน์ และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ยังคงมีความตระหนักรู้และมีความเข้าใจทางวัฒนธรรม ก็ยังคงอยู่เคียงข้างประเด็นของชาวปาเลสไตน์" อาลี อัลมุสเล็ม อายุ 19 ปี กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อ

นับตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2566 เป็นต้นมา กลุ่มติดอาวุธฮิชบอลเลาะห์ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านได้ทำการสู้รบกับกองทัพอิสราเอลในเลบานอน มีผู้เสียชีวิตจากการปะทะมากกว่า 300 ราย ส่วนใหญ่แล้วเป็นนักรบที่เสียชีวิตจากการโจมตีของอิสราเอล มีพลเรือน 8 รายถูกสังหารจากการโจมตีของฮิชบอลเลาะห์ในทางตอนเหนือของอิสราเอลนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2566 เป็นต้นมา

เรียบเรียงจาก

Where pro-Palestinian university protests are happening around the world, CNN, 03-05-2024

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net