Skip to main content
sharethis

เล็งตั้ง หนึ่งตำบล หนึ่งกลุ่มอาชีพอิสระ สร้างหลักประกันแรงงาน 20 ล้านคน

นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ได้แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพในการประกอบอาชีพอิสระ ภายใต้นโยบาย หนึ่งตำบล หนึ่งกลุ่มอาชีพอิสระ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้กระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ โดยมีตนเป็นประธานคณะทำงาน เนื่องจากมีประสบการณ์ใกล้ชิดกับประชาชนและเข้าใจบริบทของการทำงานในพื้นที่เป็นอย่างดี และมีผู้แทนส่วนราชการของกระทรวงแรงงานร่วมเป็นคณะทำงาน 

ทั้งนี้ รมว.แรงงานต้องการสร้างต้นแบบและส่งเสริมการพัฒนากลุ่มอาชีพอิสระแบบครบวงจรในทุกตำบล ตั้งแต่การขึ้นทะเบียน การพัฒนาฝีมือและผลิตภัณฑ์ เงินกู้เพื่อประกอบอาชีพ การประกันสังคม และการเชื่อมโยงไปสู่ผู้ซื้อ เพื่อสร้างรายได้และความมั่นคงในชีวิตของกลุ่มอาชีพอิสระและครอบครัว

โดยเน้นย้ำเรื่องมาตรฐานของสินค้าเพื่อยกระดับให้มีคุณภาพและราคาที่สูงขึ้น พร้อมทั้งจะประสานงานกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอื่น ๆ เพื่อจัดหาตลาด เช่น ตลาดสาขาขององค์การตลาด งานแสดงสินค้าที่จัดขึ้นตลอดทั้งปี และแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าให้มากขึ้น

ปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานอิสระถึง 20 ล้านคน ครอบคลุมหลากหลายอาชีพ เช่น เกษตรกร พ่อค้าแม่ค้า ผู้รับจ้างหรือให้บริการ ผู้รับงานไปทำที่บ้าน ผู้ให้บริการขนส่งคน สิ่งของ อาหาร ทำความสะอาด หรืออื่น ๆ ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล หรือไรเดอร์

ดังนั้นการดูแลคนกลุ่มนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งกระทรวงแรงงานกำลังเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ. ...เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ถือเป็นมิติใหม่ของกฎหมายแรงงานที่สอดคล้องกับลักษณะการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป 

โดยมีสาระสำคัญที่เรียกง่าย ๆ ว่า มาตรการ 6 ก” คือ 

1. กำหนดนิยามแรงงานอิสระให้ชัดเจน 

2. กำหนดหน้าที่ให้มีการส่งเสริมการมีงานทำ พัฒนาทักษะฝีมือ มีสภาพการทำงาน และสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม 

3. การขึ้นทะเบียนแรงงานอิสระ ส่งเสริมการรวมกลุ่ม 

4. กลไกขับเคลื่อนตั้งคณะกรรมการส่งเสริม คุ้มครอง ติดตามตรวจสอบ และประเมินผล 

5. กองทุนหมุนเวียนเป็นแหล่งเงินกู้เพื่ออาชีพ ประกันชีวิตและสุขภาพ และ 

6. การคุ้มครอง มีพนักงานตรวจแรงงานอิสระ รับเรื่องร้องเรียน ดำเนินคดี ช่วยเหลือแรงงานอิสระ 

โดยเมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว จะนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาต่อไป

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ5/5/2567 

เผยรัฐบาลมุ่งยกระดับอาชีวะไทย สร้างแรงงานทักษะให้ตรงความต้องการตลาดโลก

4 พ.ค.2567 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา เสนอรายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง อาชีวศึกษา: คุณภาพ มาตรฐาน และแรงจูงใจ โดยมีข้อเสนอแนะทั้งในด้านคุณภาพและมาตรฐาน และด้านแรงจูงใจผู้เรียนอาชีวศึกษา เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพของอาชีวศึกษาให้มีความทันสมัยและทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน และสร้างแรงจูงใจให้มีผู้สนใจเข้าเรียนสายอาชีวศึกษาเพิ่มมากขึ้น

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรรมาธิการฯ มีข้อเสนอแนะให้พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของครูผู้สอน และบุคลากรทางการศึกษา อาทิ พัฒนาสมรรถนะที่ขาดหายไป ด้วยการ Up-Skill, Re-Skill หรือ New-Skill เพื่อให้ครูมีสมรรถนะในการสอน พัฒนาหลักสูตรให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับกลุ่มอาชีพใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และให้ความสำคัญกับการฝึกปฏิบัติวิชาชีพจริงในสถานประกอบการที่ตรงกับสาขาอาชีพของผู้เรียน

ส่วนข้อเสนอแนะด้านแรงจูงใจผู้เรียนอาชีวศึกษา เช่น การสร้างค่านิยมต่อการเรียนอาชีวศึกษาว่าการเรียนทางด้านอาชีวศึกษาจะทำให้ผู้เรียนมีงานทำทันทีเมื่อสำเร็จการศึกษาในแต่ละระดับ การพัฒนากระบวนการแนะแนว นำเสนอความสำเร็จของผู้เรียนอาชีวศึกษาที่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพให้แพร่หลายผ่านสื่อช่องทางต่าง ๆ และสร้างระบบการเรียนร่วมกับการทำงานและมีรายได้ระหว่างเรียน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง ซึ่งผู้เรียนจะได้มีประสบการณ์จริงและทักษะในการประกอบอาชีพระหว่างที่เรียนด้วย

การยกระดับระบบอาชีวศึกษาไทย โดยเฉพาะการเสริมทักษะขั้นสูงและเฉพาะทาง ถือเป็นหนึ่งนโยบายที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และสร้างแรงงานทักษะให้ตรงกับความต้องการในตลาดแรงงานโลก ซึ่งหากข้อเสนอแนะดังกล่าวจะเป็นแนวทางให้นักศึกษาและแรงงานอาชีวะไทยได้รับการสนับสนุนเพิ่มทักษะความรู้ ก็จะทำให้กลายเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยอีกทางหนึ่งด้วย” รองโฆษกฯ กล่าว

ที่มา: ไทยโพสต์, 4/5/2567 

ปลัดแรงงาน เชิญนายจ้างกว่า 40 ราย ถกนโยบาย ค่าแรง 400 บาท’ ยันต้องขับเคลื่อนตามนโยบาย จ่อหารือพาณิชย์ วางมาตรการคุมราคาสินค้า

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าของแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ ภายใน 1 ตุลาคม 2567 ว่า ได้เชิญสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และผู้ประกอบการรวมกว่า 40 คน เข้ามาประชุมที่กระทรวงแรงงานในวันที่ 13 พฤษภาคมนี้ เพื่อสอบถามความเห็นของผู้ประกอบการต่อการขึ้นค่าจ้าง ซึ่งเป็นการประชุมก่อนการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 ครั้งที่ 5/2566 ในวันที่ 14 พฤษภาคม เพื่อให้มีข้อมูลประกอบการหารือกันในไตรภาคี ทั้งนี้ ตัวเลข 400 บาทต่อวัน ยังไม่ได้เป็นมติของไตรภาคี ยังเป็นกรอบที่กำหนดไว้เพื่อการพิจารณา

เมื่อถามว่า หากผู้ประกอบการที่ยังไม่พร้อมปรับขึ้นค่าจ้างเป็น 400 บาท กระทรวงจะเปิดช่องทางหารือ แก้ไขอย่างไร นายไพโรจน์กล่าวว่า ในเบื้องต้นจะมีการประชุมร่วมกับผู้ประกอบการในวันที่ 13 พฤษภาคม แล้วหลังจากนั้นก็จะมีการนัดประชุมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหานั้นๆ ต่อไป

ถามต่อว่า หากได้ข้อมูลในการประชุมร่วมกับผู้ประกอบการในวันที่ 13 พฤษภาคม จะมีผลต่อการพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอย่างไร นายไพโรจน์กล่าวว่า เรื่องการปรับค่าจ้างขึ้นต่ำ 400 บาทเป็นนโยบาย ดังนั้นกระทรวงแรงงานก็จะต้องขับเคลื่อน

ถามว่า หลายฝ่ายกังวลว่าถ้าขึ้นค่าจ้างแล้วจะส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย นายไพโรจน์กล่าวว่า เมื่อการประชุมในวันที่ 13 และ 14 พฤษภาคม เสร็จสิ้นแล้ว กระทรวงจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เช่น กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เข้ามาประชุมเพื่อวางมาตรการรองรับต่อไป

ที่มา: มติชนออนไลน์3/5/2567 

ม.หอการค้าไทย เผยปี 67 แรงงานไทย แบกหนี้หลังแอ่น มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนที่ 344,522.22 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 26.4%

สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนของแรงงานแย่ลง โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ทำการสำรวจพบมีอัตราการขยายตัวถึง 26.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว ซึ่งค่าครองชีพที่สูงขึ้นเป็นแรงกดดันที่ทำให้แรงงานต้องการให้มีการปรับค่าจ้างเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบรายได้ไม่พอรายจ่าย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยสำรวจสถานภาพแรงงานไทย ว่า จากผลสำรวจจากผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท จำนวน 1,259 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 19 – 25 เม.ย. 2567 แบ่งเป็นอยู่นอกระบบประกันสังคม 57.4% อยู่ในระบบประกันสังคม 42.6% 

สำหรับรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของกลุ่มตัวอย่างในปี 2567 พบว่า ส่วนใหญ่ 80.5 % อยู่ที่ 10,001-15,000 บาท รองลงมา 19.4% อยู่ที่ 5,000-10,000 บาท และ 0.1% รายได้ ต่ำกว่า 5,000 บาท 

และหากดูรายได้ครัวเรือน จะพบว่า ส่วนใหญ่อยู่ที่ 30,001-60,000 บาทต่อเดือน รองลงมา สูงกว่า 6 หมื่นบาทขึ้นไป และอันดับ 3 อยู่ที่ 15,001-30,000 บาท และแรงงานส่วนใหญ่ยอมรับว่าไม่มีเงินออม มีเพียง 33.8 % ที่มีเงินออม

อย่างไรก็ตาม ปี 2567 แรงงานมีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนที่ 344,522.22 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 26.4% แยกเป็นหนี้สินในระบบ 64.8% และนอกระบบ 35.2% ซึ่งหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ส่วนบุคคล หนี้บัตรเครดิต ใช้คืนเงินกู้ ที่อยู่อาศัย เป็นต้น

เมื่อถามต่อว่า หนี้ส่วนบุคคลหรือหนี้บัตรเครดิตส่วนใหญ่นำไปใช้จ่ายเรื่องใดมากที่สุด พบว่า นำไปใช้จ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค รองลงมาเป็นที่อยู่อาศัย ใช้หนี้เดิม ยานพาหนะโทรศัพท์ หรือแทปเล็ต ค่ารักษาพยาบาลอย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ และการหมุนเวียนธุรกิจ เป็นประเภทหนี้ส่วนบุคคล 3 อันดับแรก ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมากที่สุดเมื่อเทียบกับปี 2566

เป็นที่น่าสังเกตว่า หนี้นอกระบบของแรงงานมีการปรับตัวลง เนื่องจากรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ แต่แรงงานก็ยังมีความกังวลต่อการเป็นหนี้ในระดับปานกลางถึงเล็กน้อย แม้ว่าแรงงานมีการปรับตัวระมัดระวังการใช้จ่าย แต่ค่าครองชีพสูงจึงต้องการให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจ” นายธนวรรธน์กล่าว

สำหรับในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาแรงงาน 45.7% เคยประสบปัญหาผิดนัดการผ่อนชำระหนี้ และไม่เคย 54.3% สาเหตุเพราะรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย 34.5% คนในครอบครัวตกงาน/เกษียณอายุ 10.5% มีเหตุฉุกเฉินทำให้เงินขาดมือ 0.7% เมื่อเทียบระหว่างรายได้ต่อหัวกับการผ่อนชำระต่อเดือน จะพบกลุ่มที่น่าห่วง คือมีหนี้สินสูงกว่ารายได้ 

แบ่งเป็นในกลุ่มที่รายได้ต่ำกว่า 5,000 บาท มีถึง 9.8% กลุ่มรายได้ 5,001-10,000 บาท 3.4 % และกลุ่มรายได้ 10,001-15,000 บาท 5%โดยรูปแบบของการใช้หนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 60.3% เลือกแบ่งชำระบางส่วน รองลงมา 36.2 % ชำระเต็มจำนวน มีเพียง 3.5 % ที่ขาดหรือผ่อนผันการชำระ

ส่วนภาระหนี้ในปัจจุบันส่งผลต่อการใช้จ่ายในภาพรวมของแรงงงานหรือไม่ ส่วนใหญ่บอกว่ามีผลทำให้มีการใช้จ่ายลดลงประมาณ 48% แล้ว 3 เดือนข้างหน้าก็ยังมีผลอยู่ประมาณ 41.6% ทำให้รายได้ไม่พอกับรายจ่าย เนื่องจากราคาสินค้าแพงขึ้น ภาระหนี้มากขึ้น รายได้ไม่เพิ่มแต่ราคาสินค้าเพิ่ม ดอกเบี้ยสูงขึ้น โดยการแก้ปัญหารายได้ไม่พอจ่าย จะเลือกกู้ยืมเงินในระบบ 30.9% หาอาชีพเสริม 17% ขอความช่วยเหลือจากญาติพี่น้อง 16.6% กู้ยืมเงินนอกระบบ 15.7% ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงขึ้นกว่าปี 2566 ที่อยู่ประมาณ 9.7% ด้วย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แรงงานต้องทำเพื่อประคองหนี้และประหยัดในสิ่งที่จำเป็น ทั้งนี้ แรงงานต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแล ในเรื่องของการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและค่าครองชีพ การเงินช่วยเหลือในกรณีที่ตกงาน และหนี้ของแรงงานตามลำดับ

นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังได้สำรวจทัศนะผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ไทย ทั้งภาคการผลิต ภาคการค้า ภาคบริการ ต่อผลกระทบหลังปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ400 บาทต่อวัน โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 403 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 22-26 เม.ย. ที่ผ่านมา พบว่า การปรับอัตราค่าแรงในแต่ละครั้ง มักจะมีผลกระทบต่อทั้ง GDP เงินเฟ้อ ผลิตภาพแรงงาน รวมถึงอัตราการว่างงานทั้งบวกและลบ

ผลเชิงบวก คือ เมื่อผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) เพิ่มขึ้น จะช่วยผลักดันให้จีดีพีโตขึ้นตามไปด้วย กระตุ้นกำลังซื้อดีส่งผลให้การผลิตและการลงทุนดีขึ้น 

ผลเชิงลบ คือ หากค่าแรงเพิ่มเร็วเกินไป อาจเกิดการว่างงาน และกำลังซื้อลดลง ขณะเดียวกัน นายจ้างอาจปลดพนักงานหากรับมือต้นทุนไม่ไหว กระทบกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ ต้นทุนค่าแรงอาจถูกผลักไปที่ราคาสินค้าทำให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อ

สำหรับค่าแรงขั้นต่ำ ที่เอกชนมองว่าเหมาะสม ควรอยู่ที่ 370 บาท ต่อวัน ซึ่ง การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ วันละ 400 บาท แบบกระชากในบางจังหวัด ทำให้ต้นทุนค่าแรงของผู้ประกอบการบางจังหวัดสูงขึ้นกว่า 10% ทันทีขณะที่เศรษฐกิจไทยยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัว อาจโตต่ำกว่า 3% คาดว่าอยู่ที่ระดับ 2.6-2.8% กำลังซื้อกลับมาไม่ทัน 

แต่ภาระภาคเอกชนขึ้นมาทันที อาทิ ค่าน้ำมัน ค่าไฟ ทำให้เอกชน 64.7% มองว่าจะปรับราคาสินค้าและบริการ 15% ขึ้นไป และ17.2% จะลดปริมาณ ซึ่งผู้ประกอบการกว่า 48.7% กังวลมากว่าต้นทุนธุรกิจสูงขึ้น แต่ทักษะลูกจ้างเท่าเดิม เมื่อต้นทุนขึ้น 12.3% ต้องขึ้นราคา หรือไม่ลดปริมาณ ส่งผลต่อเงินเฟ้อแน่นอน

หากมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของไทยทั้งประเทศจะมีผลต่อแรงงาน 7.5 ล้านคน เป็นอย่างน้อย และจะทำให้ภาคเอกชนมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเดือนละ 9,000 ล้านบาทหรือ 300 ล้านบาทต่อวันและ จะทำให้ ไทยเป็นประเทศที่มีค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดในอาเซียน ไม่นับสิงคโปร์และบรูไน โดยมาเลเซียอยู่ 392 บาทต่อวันเวียดนามอยู่ที่ 230 บาทต่อวัน ในขณะที่เวียดนามมีแต้มต่อเรื่องเอฟทีเอและจีดีพีที่โตมากกว่า“ นายธนวรรธน์ กล่าว

สำหรับวันหยุดแรงงานวันนี้ 1 พ.ค. 2567 คาดว่าจะทำให้มีเงินสะพัดประมาณ 2,117 ล้านบาท ขยายตัว 2.4% เทียบกับปี 2566 ถือเป็นการใช้จ่ายสูงสุดในรอบ 5 ปี และเฉลี่ยใช้จ่าย 2,655 บาทต่อคน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ3/5/2567 

ขยายเวลากู้เงิน ให้กลุ่มแรงงานอิสระ ต่ออีก 1 เดือน ดอกเบี้ย 0% นาน 24 เดือน

3 พ.ค. 2567 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงาน ส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานโดยเฉพาะแรงงานอิสระให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในการประกอบอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ กรมการจัดหางานขยายระยะเวลาการยื่นคำขอกู้ยืมเงินกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน เพิ่มอีก 1 เดือน จากวันที่ 30 เมษายน 2567 เป็นวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 โดยลดอัตราดอกเบี้ยกองทุนจากร้อยละ 3 ต่อปี เป็น 0% นาน 24 เดือน มีเงื่อนไขคือผู้รับงานไปทำที่บ้านที่กู้เงินไปแล้ว ต้องชำระหนี้ครบถ้วนตามระยะเวลาที่กำหนดในงวดที่ 1-12 

สำหรับคุณสมบัติผู้มีสิทธิกู้กองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน จะต้องเป็นผู้รับงานไปทำที่บ้านที่จดทะเบียนไว้กับกรมการจัดหางาน มีผลการดำเนินการและมีรายได้จากการรับงานไปทำที่บ้าน หรือมีหลักฐานการรับงานไปทำที่บ้านจากผู้จ้างงาน ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย และไม่เป็นผู้ถูกดำเนินคดีหรืออยู่ในระหว่างดำเนินคดีเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินกองทุน โดยวงเงินกู้สำหรับบุคคล ต้องมีทรัพย์สินหรือเงินทุนไม่น้อยกว่า 5,000 บาท วงเงินกู้ไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลาชำระคืนภายใน 2 ปี ส่วนกรณีกลุ่มบุคคล ต้องมีผู้นำกลุ่มและสมาชิกกลุ่มกู้ร่วมกันไม่น้อยกว่า 5 คน มีทรัพย์สินหรือเงินทุนในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มรวมกันไม่น้อยกว่า 10,000 บาท วงเงินกู้สูงสุด 300,000 บาท ระยะเวลาชำระคืนภายใน 5 ปี (เฉพาะกู้วงเงิน 300,000 บาท ต้องมีสมาชิก 6 คนขึ้นไป)

ผู้ที่สนใจสามารถตรวจสอบคุณสมบัติและยื่นกู้ได้ที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดในท้องที่ ที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านได้จดทะเบียนไว้กับกรมการจัดหางาน หรือที่กองส่งเสริมการมีงานทำ กรมการจัดหางาน โทร. 02 245 1317 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน และสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694” นายคารม กล่าว

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 3/5/2567 

แรงงานทั่วไทยเดินขบวนเรียกร้องสิทธิจากรัฐบาล

วันที่ 1 พ.ค. ของทุกปี เป็นวันสำคัญของผู้ใช้แรงงานทั่วโลก สำหรับประเทศไทยในปีนี้ มีการจัดกิจกรรมเสนอข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาลหลายจุด โดยพื้นที่หลักอยู่ที่ตลอดแนวถนนราชดำเนิน และลานคนเมือง

แยก จปร. มี 16 สภาองค์การลูกจ้างฯ สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ และแรงงานนอกระบบ ร่วมกับกระทรวงแรงงาน จัดกิจกรรมภายใต้ชื่อ แรงงานก้าวหน้า พัฒนาทักษะฝีมือ ยึดถือความปลอดภัย เทิดไท้องค์ราชัน” โดยตั้งขบวนจากสี่แยก จปร. ถนนราชดำเนินนอก เคลื่อนไปที่เวทีหลักลานคนเมือง มีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย บริษัท อสมท จำกัด เข้าร่วมเดินขบวนนำเสนอข้อเรียกร้องด้วย ซึ่งกิจกรรมในจุดนี้ จะมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย เป็นตัวแทนนายกฯ รับข้อเรียกร้องจากผู้นำแรงงาน 10 ข้อ

ส่วนใหญ่เป็นข้อเรียกร้องเดิมจากปีก่อน เช่น รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 ให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง เพื่อเป็นหลักประกันในการทำงานของลูกจ้าง ให้รัฐบาลปฏิรูปแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม เช่น ปรับฐานการรับเงินบำนาญให้เริ่มต้นที่ 5,000 บาท เมื่อผู้ประกันตนรับเงินบำนาญชราภาพแล้ว ขอให้คงสิทธิรักษาพยาบาลได้ตลอดชีวิต ให้กระทรวงแรงงานสร้างโรงพยาบาลประกันสังคม และจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อผู้ใช้แรงงาน เป็นต้น ซึ่งใน 10 ข้อเรียกร้องจะไม่มี เรื่องการปรับค่าจ้าง เพราะคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีดำเนินการในเรื่องนี้อยู่แล้ว

ส่วนที่ หน้าเวทีมวยราชดำเนิน นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล และนายเซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ ร่วมกับพี่น้องแรงงานจากทั่วประเทศ จัดกิจกรรมวันแรงงาน ร่วมเรียกร้อง สิทธิแรงงานให้พี่น้องแรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายสิทธิลาคลอด 180 วันที่ขณะนี้อยู่ในชั้นกรรมาธิการ และร่างกฎหมายสหภาพแรงงาน ส่งเสริมสิทธิของคนทำงานในการรวมตัวและเจรจาต่อรองกับนายจ้างและภาครัฐ ก่อนจะร่วมเคลื่อนขบวนไปที่ลานคนเมืองด้วย

ส่วนที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สมาพันธ์สมานฉันแรงงานไทย (สสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จัดกิจกรรม สามัคคีกรรมกร ต้านทุนนิยมครอบโลก สร้างสังคมใหม่ ประชาธิปไตยประชาชน” โดยตั้งขบวนที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนจะเคลื่อนไปบริเวณประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามทวงถามข้อเรียกร้องเดิมที่เคยยื่นไว้ทุกปี แต่รัฐบาลยังไม่ตอบรับประมาณ 10 ข้อ เช่น ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 492 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ควบคุมราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น และสิทธิในการลาคลอด 180 วัน ตามมาตรฐานสากล

ทั้งนี้ การแยกเวทีจัดงานทุกปี นายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษาสมาพันธ์สมานฉันแรงงานไทย (สสรท.) กล่าวว่า ไม่ได้แตกแยก แต่ไม่เห็นด้วยกับหลักการที่รัฐบาลเข้ามาเป็นประธานจัดงาน มีการให้งบจัดงาน 5 ล้านบาท วันกรรมกรเป็นวันของคนทำงาน รัฐบาลไม่ควรเข้ามาเป็นเจ้าภาพ เพราะถ้ารัฐบาลออกเงินก็จะคุมงานเองทุกอย่าง ทำอะไรมากไม่ได้ ไม่เป็นอิสระในการสะท้อนเรื่องจริง

ที่จ.สงขลา สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ จัดกิจกรรมเดินขบวนของกลุ่มผู้ใช้แรงงานทั้งแรงงานไทย และแรงงานข้ามชาติ เช่นแรงงานชาวเมียนมา โดยเคลื่อนขบวนจาก หน้าสถานีรถไฟหาดใหญ่ ไปรวมกันที่ถนนเสน่หานุสรณ์ หน้าโรงแรมลีการ์เด้นพลาซ่า อ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องของแรงงานทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติ ให้รัฐบาลแก้ปัญหาเร่งด่วน เช่น ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 712 บาทเท่ากันทั้งประเทศ ซึ่งขณะนี้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำแค่ 8 จังหวัดและไม่เท่ากัน ปรับเงินเดือนและบัญชีโครงสร้างเงินเดือน พนักงานรัฐวิสาหกิจ ตามข้อเสนอของ สรส. ลดรายจ่ายของกิจกรรมวันแรงงาน ประชาชนลง เพื่อเพิ่มรายได้ เพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน และผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในภาพรวมได้อย่างแท้จริง ลดราคาน้ำมัน ก๊าซ ลดราคาค่าขนส่ง ค่าเดินทาง ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าไฟฟ้า โดยข้อเรียกร้องทั้งหมดจะยื่นให้กับนายกรัฐมนตรีผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาต่อไป

ส่วนที่ จังหวัดตราด ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เป็นประธานจัดกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด แรงงานสร้างสุข ปลุกจิตอาสา ร่วมพัฒนาความปลอดภัย ห่างไกลยาเสพติด” ซึ่ง สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตราด ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน เครือข่ายแรงงาน จัดขึ้น บริเวณสนามฟุตบอลหญ้าเทียม โรงเรียนกีฬาจังหวัดตราด มีผู้ใช้แรงงานจากทั้งหน่วยงานภาคเอกชน ตลอดจนผู้แทนภาครัฐเข้าร่วมกิจกรรม ทั้งการมอบทุนการศึกษาให้กับบุตรของผู้ใช้แรงงาน การจับสลากแจกของรางวัลให้กับผู้ใช้แรงงาน ที่เข้าร่วมงาน การเต้นแอโรบิกเพื่อสุขภาพ การแข่งขันฟุตบอลระหว่างส่วนราชการและผู้ใช้แรงงาน ระหว่างฝ่ายชายและฝ่ายหญิง การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน รวมทั้งการประกวดร้องเพลง อีกด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง วงการแรงงาน และเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของผู้ใช้แรงงานที่ได้ทำประโยชน์ต่อชาติ

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 1/5/2567 

เปิด 10 ข้อเรียกร้อง ผู้ใช้แรงงาน ขอสิทธิรวมตัว เจรจาต่อรอง ปรับฐานบำนาญ ลดหย่อนภาษีเงินก้อนสุดท้าย

30 เม.ย. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการจัดกิจกรรมเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2567 ซึ่งมีกำหนดจัดในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ล่าสุดกลุ่มผู้ใช้แรงงานได้เตรียมยื่น 10 ข้อเรียกร้อง วันแรงงานแห่งชาติ พ.ศ.2567 ต่อรัฐบาล ประกอบด้วย

1. รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง

2.ให้รัฐบาลตราพระราชบัญญัติ หรือประกาศเป็นกฎกระทรวงให้มีการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง เพื่อเป็นหลักประกัน” ในการทำงานของลูกจ้าง

3. ให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม ดังนี้ 3.1 ปรับฐานการรับเงินบำนาญ โดยให้มีอัตราเริ่มต้นที่ 5,000 บาท 3.2 ในกรณีที่ผู้ประกันตนเกษียณอายุและรับเงินบำนาญแล้ว เมื่อสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ต่อ ให้มีสิทธิรับเงินบำนาญต่อไป 3.3 เมื่อผู้ประกันตนรับเงินบำนาญชราภาพแล้ว ขอให้คงสิทธิรักษาพยาบาลได้ตลอดชีวิต 3.4 กรณีผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาพยาบาลเกี่ยวกับโรคร้ายแรงและเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็งทุกชนิด ฯลฯ ให้ครอบคลุมถึงการใช้ยารักษาพยาบาลตามที่แพทย์แนะนำ 3.5 ในกรณีผู้ประกันตนพ้นสภาพจากมาตรา 33 และประกันตนต่อ มาตรา 39 การคำนวณเงินค่าจ้างเดิม 60 เดือน เป็นค่าตอบแทนต่างๆ ขอให้ใช้ฐานค่าจ้างจากมาตรา 33 3.6 ขยายอายุผู้ประกันตนจาก 15-60 ปี ขยายอายุเป็น 15-70 ปี เพื่อให้เข้ากับสังคมผู้สูงอายุ 3.7 ในกรณีผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพื่อสร้างแรงจูงใจและลดความเหลื่อมล้ำ ให้รวมทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 2 เป็นทางเลือกเดียวกัน

4. ขอให้รัฐบาล (กระทรวงแรงงาน) จัดสร้างโรงพยาบาลประกันสังคม และจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อผู้ใช้แรงงาน

5.ให้รัฐบาล (กระทรวงแรงงาน) ใช้มาตรการอย่างเคร่งครัด ให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างรับเหมาค่าแรงต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 11/1

6.ขอให้รัฐบาลเร่งรัดให้ได้ข้อสรุปในแนวทางการจัดระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหลังเกษียณอายุให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้มีระบบสวัสดิการ จากรัฐเทียบเคียงกับข้าราชการบำนาญ และลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 รวมถึงให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้ จากค่าตอบแทนความชอบด้วยหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการลดหย่อนเงินได้ก้อนสุดท้าย หรือลดหย่อนเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างเอกชนได้รับเมื่อถูกเลิกจ้าง 6.1 ขอให้ปรับเพิ่มเงินเดือนของพนักงานและลูกจ้างในรัฐวิสาหกิจ ให้มากกว่าเงินเดือนข้าราชการตามหลักการเดิมเนื่องจากรัฐวิสาหกิจไม่มีระบบบำนาญและการรักษาพยาบาลหลังการเกษียณอายุเช่นเดียวกับข้าราชการ 6.2 ขอให้รัฐบาลลดหย่อนภาษีเงินได้ก้อนสุดท้าย จำนวน 1 ล้านบาท ที่ลูกจ้างออกจากงานทุกกรณี

7.ให้รัฐบาลเพิ่มหลักประกันความมั่นคงให้กับลูกจ้าง โดยเร่งดำเนินการให้ พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติมีผลใช้บังคับโดยเร็ว

8.ขอให้รัฐบาลยกระดับกองความปลอดภัยแรงงานขึ้นเป็น กรมความปลอดภัยแรงงาน

9.เมื่อลูกจ้างบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือประสบอันตราย เนื่องจากการทำงานให้กับนายจ้าง ลูกจ้างที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล หากมีค่ารักษาพยาบาลเกินวงเงินที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ให้สำนักงานกองทุนเงินทดแทนจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เกินให้กับลูกจ้างจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล

10.ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติปี พ.ศ.2567 และจัดให้มีการประชุมเพื่อติดตามผลทุก 2 เดือน

ที่มา: มติชนออนไลน์, 30/4/2567 

สมาคมนักข่าวฯ วอนผู้ประกอบการ หยุดกดขี่ใช้แรงงานคนสื่อเพื่อประโยชน์ฝ่ายเดียว

30 เม.ย. 2567 สมาคมนักข่าวฯ ออกแถลงการณ์ เรียกร้องผู้ประกอบการ หยุดกดขี่ใช้แรงงานคนสื่อ เพื่อประโยชน์ความอยู่รอดผู้ประกอบการสื่อแต่ฝ่ายเดียว โดยระบุว่า นับจากการเปลี่ยนแปลงกลไกการกำกับดูแลและออกใบอนุญาตการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 และ พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ซึ่งเป็นที่มาของการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. คนทำงานในวิชาชีพสื่อสารมวลชนโดยเฉพาะด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ได้รับผลกระทบกันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านความมั่นคงในอาชีพ การปรับตัวให้ทันกับการแข่งขันและแย่งชิงพื้นที่การเข้าถึงของผู้เสพสื่อออนไลน์ โดยจะต้องยังคงยึดมั่นการทำงานตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อมวลชน แต่ในหลายสถานการณ์บนความอยู่รอดของนายทุนผู้ประมูลเข้ารับใบอนุญาตทีวีดิจิตอลที่ได้สิทธิคืนใบอนุญาต ได้รับเงินชดเชย แต่คนทำงานในวิชาชีพสื่อกลับได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ทั้งในรูปแบบการเลิกจ้าง ปรับโครงสร้างเพื่อลดคนทำงานแต่แบกภาระงานเพิ่มขึ้น โดยที่ กสทช. ไม่เคยยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือได้อย่างจริงจัง และไม่เคยยอมรับความผิดพลาดในนโยบายประมูลทีวีดิจิตอล 24 ช่องแต่อย่างใด

ขณะที่บนบ่าของคนทำงานสื่อที่ถูกเรียกร้องคุณภาพและความน่าเชื่อถือ แต่ในกระบวนการของการดำรงอยู่ของธุรกิจสื่อกลับรีดเค้นให้ต้องทำงานเพิ่มขึ้น ต้องเผยแพร่ได้ทุกสื่อทุกช่องทางและทุกเวลา ต้องเรียนรู้ปรับตัวให้ทันกับการแข่งขันกับสื่อออนไลน์ที่เน้นจำนวนการเข้าถึงโดยไม่สนใจว่าจะเกิดความบิดเบี้ยวของการรับรู้ข่าวสารในสังคมมากน้อยเพียงใด องค์กรสื่อหลายแห่งยังต้องปรับลดต้นทุน และทยอยปรับลดคนทำงานด้วยวิธีการต่างๆ นานา เป็นเหตุทำให้คนทำงานในวิชาชีพสื่อ ทั้งนักข่าว ช่างภาพ ผู้ช่วยช่างภาพ รวมทั้งทุกตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกลับกลายเป็นแรงงานกลุ่มที่ต้องยอมรับสภาพการถูกเอารัดเอาเปรียบ บีบคั้น กดดันให้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่มุ่งเน้นผลประโยชน์ด้านรายได้เป็นเป้าหมายสูงสุดด้วยเหตุผลเพื่อความอยู่รอดขององค์กรสื่อ โดยละเว้น ละเลย ต่อคุณภาพและจริยธรรมคุณธรรมในการนำเสนอ หากไม่ยึดถือปฏิบัติก็จะถูกกดดันด้วยผลประเมินการปฏิบัติงาน การโยกย้ายหรือมอบหมายงานที่ไม่ตรงกับตำแหน่งที่จ้างงาน หรือการด้อยค่าให้ไปปฏิบัติงานที่ต่ำลงกว่าเดิม

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ในฐานะองค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชน ได้ตรวจสอบพบว่ามีบางองค์กรสื่อใช้วิธีการกดดัน กลั่นแกล้ง รังแก กระทำในรูปแบบต่างๆ โดยเลี่ยงกฎหมายแรงงานกับคนทำงานในวิชาชีพสื่อมวลชนในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การปฏิเสธการลาแม้จะเป็นเหตุจำเป็นยิ่งยวด การกลั่นแกล้งให้ไปประจำต่างจังหวัด การลดตำแหน่ง หรือแม้กระทั่งการสั่งงานให้ออกไปปฏิบัติงานตามหมายข่าวแบบปัจจุบันทันด่วนที่ต้องเดินทางระยะไกล ไปเฝ้าเกาะติดติดตามแหล่งข่าวต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสัปดาห์โดยไม่มีสิทธิปฏิเสธ และเมื่อกลับมาปฏิบัติงานในกองบรรณาธิการก็ต้องรับหมายงานต่อเนื่อง โดยไม่ได้หยุดพักผ่อนด้วยเหตุผลว่าจำนวนคนไม่พอจึงต้องให้อยู่ปฏิบัติงาน

เนื่องในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2567 สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จึงขอทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน เรียกร้องต่อผู้เกี่ยวข้องได้หันมารับทราบและช่วยกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อให้สื่อมวลชนยังสามารถยืนหยัดทำงานได้อย่างเต็มกำลังตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ และไม่ถูกกดขี่การใช้แรงงานเพื่อประโยชน์ของความอยู่รอดของผู้ประกอบกิจการสื่อแต่เพียงฝ่ายเดียว ดังต่อไปนี้

ขอให้ กสทช. หันมาให้ความสนใจ ติดตามตรวจสอบ กวดขันกำกับผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาต พึงให้ความเคารพต่อการทำหน้าที่ตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และอำนวยความสะดวกต่อการปฏิบัติต่อผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนตามบทบัญญัติแห่งกฏหมายแรงงาน

ขอให้กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ใช้กลไกผู้ตรวจแรงงานเข้าไปดำเนินการสอดส่องตรวจตราให้เป็นไปตามสภาพการจ้าง ระเบียบการว่าจ้าง สวัสดิภาพ ตลอดจนสวัสดิการแรงงานแก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน

ขอให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ดำเนินการกวดขัน ตรวจสอบบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ประกอบกิจการสื่อสารมวลชน ให้ปฏิบัติตามหลักบรรษัทภิบาลอย่างเคร่งครัด

ขอให้ผู้ประกอบกิจการสื่อสารมวลชน ละ เลิก การกระทำการใดๆ ที่เป็นการกดดัน บีบคั้นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนให้กระทำการในลักษณะขัดหรือแย้งต่อจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสื่อสารมวลชน และกำชับกวดขันให้ดูแลสภาพการจ้าง และสวัสดิการให้เป็นไปตามกฎหมาย

ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรม ขอให้ยื่นคำร้องหรือคำขอความช่วยเหลือมายังสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เพื่อให้สภาทนายความฯ จัดผู้ช่วยเหลือทางกฎหมายมาดำเนินการต่อผู้ประกอบกิจการการ ฯ ที่กระทำผิดกฎหมายต่อไป

ที่มา: Amarin TV, 30/4/2567 

กสม.ส่งสาร "วันแรงงานสากล" จี้รัฐทบทวน กม.แรงงานให้คุ้มครองทุกกลุ่ม

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)ได้ส่งสารเนื่องใน วันแรงงานสากล” 1พฤษภาคม ประจำปี 2567 ระบุว่า กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม ได้รับรองสิทธิในการทำงาน การได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม รวมทั้งสิทธิของทุกคนในการมีสวัสดิการสังคมและมีมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอสำหรับตนเองและครอบครัว สิทธิแรงงาน” จึงเป็นสิทธิมนุษยชน

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ตรวจสอบ ติดตามและประเมินสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิแรงงานในรอบปีที่ผ่านมา พบว่า แรงงานไทย แรงงานข้ามชาติ ทั้งในระบบและนอกระบบยังประสบปัญหาการถูกเลิกจ้าง การค้างค่าจ้าง และการค้างจ่ายค่าชดเชย แรงงานหลายกลุ่มไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ส่งผลกระทบต่อการมีงานทำ ความมั่นคงในการเลี้ยงชีพ และการเข้าถึงสวัสดิการแรงงานขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานแพลตฟอร์ม หรือ ไรเดอร์ ซึ่งไม่ได้รับการปฏิบัติจากบริษัทแพลตฟอร์มในฐานะพนักงานหรือลูกจ้างตามกฎหมาย ส่วนแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ เช่น แรงงานที่ไปเก็บเบอร์รี่ป่าในประเทศสวีเดนและประเทศฟินแลนด์ ประสบปัญหาถูกหลอกไปใช้แรงงาน ไม่ได้รับการดูแลตามสัญญาจ้าง และต้องอยู่ภายใต้สภาพการทำงานที่ยากลำบาก การบังคับใช้แรงงานมีลักษณะเป็นขบวนการค้ามนุษย์ ขณะที่แรงงานที่ได้รับสวัสดิการทางสังคมตามกฎหมาย คือ แรงงานซึ่งเป็นผู้ประกันตนของกองทุนประกันสังคมยังมีความเหลื่อมล้ำจากการรับบริการด้านสาธารณสุข เช่น บริการทันตกรรม ซึ่งสิทธิประโยชน์ที่ได้รับต่ำกว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) อันเป็นมาตรฐานขั้นต่ำ เป็นต้น

เนื่องในวันแรงงานสากล 1 พฤษภาคม ประจำปี 2567 กสม. จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้องและดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้แรงงานทุกกลุ่มที่เข้าไม่ถึงความคุ้มครองทางสังคม เช่น ลูกจ้างทำงานที่บ้าน ลูกจ้างภาคการเกษตร ไรเดอร์ ผู้รับงานไปทำที่บ้าน รวมทั้งแรงงานไทยในต่างประเทศ ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม และควรมีมาตรการจูงใจในการนำลูกจ้างทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยเข้าสู่ระบบประกันสังคม และเร่งปรับปรุงให้สิทธิประโยชน์ในระบบประกันสังคมให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะของ กสม.

ทั้งนี้ กสม. ขอเน้นย้ำให้รัฐบาลเร่งดำเนินการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 ซึ่งรับรองเสรีภาพในการสมาคม และสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง เพื่อให้แรงงานทุกกลุ่มในประเทศไทยได้รับความเป็นธรรม มีความมั่นคง ปลอดภัยในการทำงาน มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งด้านสุขภาพและสภาพแวดล้อมที่ดี และมีมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอ โดยไม่ถูกแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติ อันจะเป็นการสร้างมาตรฐานแรงงานไทย และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางการค้าต่อไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์30/4/2567 

ผลสำรวจระบุเอกชนจ่อขึ้นราคาสินค้า 15% ภายใน 1 เดือน หลังรัฐขึ้นค่าแรงวันละ 400 บาท 

29 เม.ย. 2567 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้า เปิดเผยว่าผลการสำรวจทัศนคติของเอกชนทั้งภาคการผลิต การค้า และบริการต่อการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท/วันภายในปี 2567ว่าการขึ้นค่าแรงจะช่วยผลักดันให้ GDP โตขึ้น สามารถกระตุ้นกำลังซื้อ การผลิตและการลงทุนให้เพิ่มขึ้น แต่ค่าแรงที่สูงขึ้นอาจจูงใจให้นายจ้างลงทุนในการพัฒนาทักษะและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตของแรงงานมากขึ้น

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า หากค่าแรงเพิ่มเร็วเกินไป นายจ้างอาจปลดพนักงานหากรับมือต้นทุนไม่ไหว กระทบกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งต้นทุนค่าแรงอาจถูกผลักไปที่ราคาสินค้าทำให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อ โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น และหากไม่ลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพ ต้นทุนที่สูงขึ้นอาจมีผลทำให้ขีดความสามารถแข่งขันลดลง ซึ่งส่งผลเสียในระยะยาว

จากผลการสำรวจพบว่าเอกชนส่วน ใหญ่ 64.7% บอกว่าเตรียมจะปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการ และอีก 35.3% บอกว่าจะไม่ปรับราคาสินค้า โดยหากปรับจะปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นมากกว่า 15% ขึ้นไป โดยจะปรับราคาภายใน 1 เดือนต่อจากนี้ ส่วนคนที่ไม่ปรับราคานั้นจะใช้วิธี ปรับลดปริมาณสินค้า หรือลดต้นทุนอื่นๆ รวมถึงลดจำนวนแรงงานแทน

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการกังวลว่าจะมีภาระต้นทุนของธุรกิจสูงขึ้น แต่ทักษะการทำงานของลูกจ้างยังคงเท่าเดิม ต้นทุนค่าแรงสูงขึ้นก็จริง แต่ภาระต้นทุนอื่นๆ ของการทำธุรกิจสูงขึ้น เช่นเดียวกัน เช่น ค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้าจะผลกระทบนอกจากความสามารถในการแข่งขันแล้ว โดยรวมแล้วผู้ประกอบการ 72.6% ยังคงเห็นว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท ยังไม่มีความเหมาะสม และยังมองว่าค่าจ้างแรงงานที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ 370 บาทต่อวัน

นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า สำหรับแรงงาน หรือผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า ในกรณีที่ไม่สามารถปรับเพิ่มค่าแรงตามที่คาด ซึ่งส่วนใหญ่ 65.3% ขอเพียงให้เพิ่มเท่ากับค่าสาธารณูปโภคที่เพิ่มสูงขึ้น รองลงมาขอให้เพิ่มเท่ากับค่าเดินทาง เพิ่มเท่ากับค่าราคาอาหาร เพิ่มเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และเพิ่มเท่ากับค่าเช่าที่อยู่อาศัย และผลจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ อาจส่งผลให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งแรงงานกว่า 60.8% ไม่สามารถรับได้

ทั้งนี้ ภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องค่าแรงหรือค่าครองชีพ คือ ช่วยเหลือค่าครองชีพกลุ่มเปราะบาง กระตุ้นเศรษฐกิจแรงงานจะได้มีรายได้เพิ่ม ให้นายจ้างช่วยค่าอาหาร ช่วยเหลือให้เงินอุดหนุนค่าสาธารณูปโภค กระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาคให้แรงงานกลับถิ่น และมีสวัสดิการค่าเดินทางให้กับแรงงานรายได้น้อย นอกจากนี้ แรงงานยังกังวลเรื่องตกงาน และมีความเสี่ยงจากการไม่มีเงินเก็บซึ่งสัดส่วนถึง 81.3% จะสามารถอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน

ที่มา: ข่าวสด, 29/4/2567 

ก.แรงงานหนุนจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ปี 67 พร้อมเปิดพื้นที่รับฟังข้อเรียกร้อง ย้ำแรงงานเป็นกำลังผลักดันเศรษฐกิจสังคมไทย

นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ โดยรัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 1 พ.ค. ของทุกปี เป็นวันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งเป็นวันสำคัญของพี่น้องแรงงานที่เป็นกำลังในการผลักดันและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เติบโตก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ในปีนี้สภาองค์การลูกจ้าง 16 แห่ง สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย และศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ ได้เห็นชอบให้นายทวี ดียิ่ง ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานอุตสาหกรรมเอกชน เป็นประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2567 โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนงบประมาณ วัสดุ อุปกรณ์ และอำนวยความสะดวกแก่คณะกรรมการจัดงาน ที่สำคัญจะเป็นโอกาสให้ผู้ใช้แรงงานได้นำเสนอข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ต่อรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงแรงงานจะนำมาดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน และหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องแรงงานต่อไป

สำหรับการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติในปีนี้ จะจัดขึ้นในวันพุธที่ 1 พ.ค. ณ บริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เริ่มตั้งแต่เวลา 07.30 น. พิธีสงฆ์ มีสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธี เวลา 08.45 น. ริ้วขบวนลูกจ้างผู้ใช้แรงงาน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน เคลื่อนออกจากบริเวณแยก จปร. ถ.ราชดำเนินนอก ไปยังลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพหานคร เวลา 11.00 น. พิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2567 ซึ่ง นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ รองนายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นประธานในพิธี โดยประธานคณะกรรมการจัดงานจะแถลงข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ และยื่นต่อรองนายกรัฐมนตรี จากนั้นรองนายกรัฐมนตรีจะเยี่ยมชมนิทรรศการของกลุ่มผู้ใช้แรงงานและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ณ เต็นท์กิจกรรมกระทรวงแรงงาน

โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในปีนี้กระทรวงแรงงานมีของขวัญวันแรงงานให้กับผู้ใช้แรงงาน เช่น การผลักดันอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 เพื่อส่งเสริมเสรีภาพและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 สิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง ซึ่งในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาไม่เคยผ่านขั้นตอนแรก รวมทั้งการขยายเวลาให้เงินกู้สำหรับแรงงานอิสระที่รับงานไปทำที่บ้าน ซึ่งจะหมดอายุในวันที่ 30 เม.ย.นี้ ออกไปจนกว่าจะครบวงเงินกู้ โดยปลอดดอกเบี้ยในช่วง 2 ปีแรก เป็นต้น

ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย28/4/2567 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net